Moved to official website
ขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าขณะนี้ ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาได้จัดทำเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำการย้ายไปยังบ้านใหม่ คือ http://ceft.ath.cx/ ที่ใหม่นี้ กว้างขวางและมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น พวกเราหวังว่าจะพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต หากท่านมีคำติชมหรือแนะนำ อย่าลังเลที่จะแสดงความเห็นได้ในเว็บของศูนย์ฯ
ขอขอบพระคุณสำหรับความสนใจ
คณะกรรมการ
จากรัฐประหาร ๑๙ กันยาสู่ความเข้าใจใหม่ประชาธิปไตยไทย
หลังจากที่ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาได้ทำการเปิดตัวโดยจัดการสัมมนาวิชาการครั้งแรก ในหัวข้อ “ตีความพุทธด้วย Ricoeur” ซึ่งคุณรชฏ (พี่ปอนด์) ได้มาให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาของ Paul Ricoeur และการปรับใช้กับศาสนาพุทธ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างดีในครั้งนั้น นี่ถือเป็นโอกาสที่ ๒ ที่ทางศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาตั้งใจจะสานต่องานสัมมนาวิชาการที่มีคุณภาพ โดยประสานงานและร่วมมือกับนักศึกษาไทยในระดับปริญญาเอกอีกครั้งหนึ่ง
ในการสัมมนาวิชาการครั้งที่ ๒ ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคมนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณพิมพาวดี พหลโยธิน นักศึกษาปริญญาเอกจาก Science Po ที่จะมาเสนอแนวคิดและการวิเคราะห์ทางการเมืองในหัวข้อ « Towards a Better Understanding of Thai Democracy: A Comparative Analysis of Different Theories »
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖ เดือนของการทำรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาจึงตั้งใจจะจัดการสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้น โดยหวังว่าแนวคิดและทฤษฎีการเมืองที่ผู้บรรยายจะนำเสนอนั้น จะสามารถเป็นเครื่องมือให้เราทำความเข้าใจกับการเมืองไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหารวันวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐ อันนำมาซึ่งรัฐบาลรักษาการณ์และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ คุณพิมพาวดี จะใช้ระเบียบวิธีและทฤษฎีในการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
- National Identity and the nation as an imagined community – Benedict ANDERSON, Thongchai WINICHAKUL
- The Bureaucratic State – Fred RIGGS
- « Social/Indigenous models » such as the « paternalistic dictator », »patron-clientelism » and « hierarchical social interaction » – Clark NEHER
- Factions and Personality-based politics as characterized by the 1980s and 1990s - Jim OCKEY
- The Vicious Political Cycle – Likhit DHIRAVEGIN
- The Network Monarchy - Duncan McCARGO
การสัมมนาจะจัดขึ้น เวลา ๑๓-๑๖.๐๐ น. ณ ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษา วัดไทยธรรมปทีป เมืองมัวซี ครามาแยล 77550
ขอเชิญร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันก่อนการสัมมนา ซึ่งจัดไว้โดยศูนย์ ผู้ต้องการร่วมรับประทานอาหาร กรุณาลงชื่อใน commentaire
โทร 01 64 88 94 55
ขอเชิญเข้าร่วมการเสวนาวิชาการ ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๐
9 janvier, 2007, 23:41
Classé dans :
Séminaire
คณะทำงานเพื่อจัดตั้งศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาวิชาการของศูนย์ครั้งแรกในเสาร์ที่ 20 มกราคมนี้ เวลา 14.00-16.00
เรื่อง ตี “ความ” พุทธ ด้วย Ricoeur
โดย รชฎ สาตราวุธ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยปารีส 4
ซอร์บอนน์
จัดขึ้นที่วัดไทยธรรมปทีป เมืองมัวซี ครามาแยล 77550
โทร 01 64 88 94 55
ขอเชิญชวนท่านผู้สนใจมาร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นในบรรยากาศแบบวิชาการแต่เป็นกันเอง ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาจะจัดให้มีการพูดคุยระดมสมองเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในนามของศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาต่อไปด้วยครับ
สำหรับหัวข้อการเสวนาและสัมมนาที่ได้วางแผนเอาไว้สำหรับครั้งถัดๆ ไป ได้แก่
ครั้งที่ ๒ เรื่อง « กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย »
ครั้งที่ ๓ วิจารณ์วรรณกรรมแปลเรื่อง « รุกสยามในนามของพระเจ้า »
ครั้งที่ ๔ เรื่อง « อาจารย์ปรีดีกับกฎหมายมหาชนไทย »
ขอบคุณครับ
————————————–
บทคัดย่อสำหรับ ตี “ความ” พุทธด้วยริเกอร์
9 janvier, 2007, 23:05
Classé dans :
Séminaire
ตี “ความ” พุทธด้วยริเกอร์
โดย นายรชฎ สาสตราวุธ
นักศึกษาสาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยปารีส ๔ – ซอร์บอน
ความพยายามในการมองพุทธศาสนาด้วยมุมมองของปรัชญาตะวันตกดูจะมิใช่ของใหม่อีกต่อไปในโลกปัจจุบัน ดังเช่นในสังคมไทย ได้มีความพยายามเปรียบเทียบแนวคิดของซาร์ตร์กับพุทธศาสนา อันแสดงให้เห็นว่ามิติทางภูมิปัญญามิอาจถูกขวางกั้นด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์กายภาพ
อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเนื่องจากระบบการอธิบายโลก ตลอดจนจุดหมายปลายทางของระบบความคิดทั้งสองกระแสนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอธิบาย “ธรรมชาติ” ของปรัชญาตะวันตก อันรวมไปถึงคริสตศาสนาและพุทธศาสนาเสียก่อนจึงสามารถกำหนดพื้นที่ที่ริเกอร์และพุทธศาสนาสามารถมีบทสนทนาระหว่างกันได้
เราจะพบว่าปรัชญาพยายามตอบคำถามเรื่องความจริงของโลกที่ต้องสามารถอธิบายและเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล ในขณะที่ศาสนาสายเอกเทวนิยมพยายามอธิบายที่มาแห่งโลกด้วยผู้สร้างที่อยู่เหนือขึ้นไปจากโลกนี้หรือพระเจ้า ส่วนพุทธศาสนามองเห็นเหตุและปัจจัยในกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งในโลกหรือปฏิจจสมุปบาท ความแตกต่างข้างต้นทำให้ข้อเสนอทางปรัชญามีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย
ปรัชญาของริเกอร์วางอยู่บนฐานการเข้าใจ “ความจริง” ในคัมภีร์ไบเบิ้ลที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ทันที ความจริงดังกล่าวมีลักษณะเป็น “รหัส” ที่พระเจ้าเผยแสดงต่อมนุษย์ ดังนั้น การตีความจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าใจวัจนะแห่งความจริงของพระเจ้า ในขณะที่พุทธศาสนามิได้ให้ความสำคัญกับรหัสของพระเจ้า จึงทำให้การเข้าใจคัมภีร์อย่างพระไตรปิฎกต้องมาพร้อมกับการปฏิบัติธรรม แต่ทั้งนี้ ข้อถกเถียงของพระพุทธศาสนาซึ่ฃวางตนอยู่บนการปฏิบัติก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าใจคัมภีร์ด้วย ดังข้อถกเถียงเรื่องการสังคยนาพระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติพุทธศาสนา ตลอดจนข้อถกเถียงเรื่องธรรมะที่มีต่อพุทธศาสนามหายาน ดังนั้น ประเด็นเรื่องการตีความจึงเป็นเรื่องที่มิอาจจะละเลยได้ และริเกอร์ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาสายการตีความจะมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร ยังเป็นคำถามที่สามารถมีคำตอบได้หลายมิติต่อไป
————————
ขอเชิญผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมการเสวนาครั้งที่ ๑ ในวันเสาร์ที่ ๒๐ มกราคม ศกนี้ ฝากชื่อหรือจำนวนผู้ที่จะมาเข้าร่วมทาง commentaire ครับ
นอกจากนี้ ทางศูนย์ยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ของทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ เวลาและสถานที่จัดการเสวนาครับ
ขอบคุณมากครับ
ยินดีต้อนรับสู่ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษา
10 janvier, 2007, 0:04
Classé dans :
Articles
ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกของศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษา คณะจัดตั้งศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาสร้างบล็อกนี้ขึ้นมาใช้ชั่วคราวก่อนที่จะพัฒนาและสร้างเว็บไซต์ที่เป็นทางการขนานไปกับการเตรียมก่อตั้งศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษา อย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้
ศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษาเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์และความตั้งใจของนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนจากหลากหลายสาขาแต่มีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นจะต้องมีสถานที่ที่เป็นรูปธรรมสำหรับเก็บรวบรวมเอกสารทางวิชาการ ผลงานค้นคว้าวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนักเรียนไทยในฝรั่งเศส รวมทั้งความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสังคมไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ที่ได้จัดทำขึ้นในประเทศฝรั่งเศส
โดยคณะได้รับความอนุเคราะห์สถานที่และงบประมาณจากวัดไทยธรรมปทีป ซึ่งจะได้ใช้สถานที่จัดตั้งห้องสมุดและหอจดหมายเหตุสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสฯ ต่อไปด้วย
นอกจากนี้ พวกเรายังต้องการผลักดันให้ศูนย์เป็นพื้นที่ของการพบปะ ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักเรียน นักวิชาการและผู้สนใจทั้งไทยและฝรั่งเศส ซึ่งมีความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่เปิดและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สนใจทุกท่าน พวกเราจะจัดให้มีการเสวนาและสัมมนาเป็นประจำ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดี ปรัชญา ศาสนา การเมือง กฎหมายและอื่นๆ ซึ่งเน้นเนื้อหาไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
คณะผู้จัดตั้งศูนย์ไทย-ฝรั่งเศสศึกษา